วัดประจำรัชกาลที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔ ในยามราตรี
ประวัติของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
วัดประจำรัชกาลที่ ๑ ถึง ๓...วัดเก่า ทำใหม่
สำหรับ วัดประจำรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
แต่จริงๆ แล้ววัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังเท่านั้น
ส่วนวัดประจำรัชกาลที่ ๑ จริงๆ แล้วก็คือ
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์”
วัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวัง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
“วัดโพธิ์” หรือมีนามทางราชการว่า
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม”
เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด
แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑
ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี
ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

ด้านหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ครั้นมาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นนครหลวง
ได้ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง
วัดโพธารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอยู่ในเขตพระมหานคร
และได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา
จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขึ้นเสวยราชสมบัติ
และได้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่
จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย
และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง
ภายหลังวัดแห่งนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๑

พระอุโบสถ นับเป็นหนึ่งในพระอุโบสถที่งดงามมากของวัดในเมืองไทย

บริเวณพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอารามหลวงแห่งนี้
มีเนื้อที่ทั้งหมด ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง
ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ
ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาว
แบ่งเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสแยกจากกันไว้อย่างชัดเจน
มีหลักฐานปรากฏใน “จารึกวัดโพธิ์” ไว้ว่า
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า
มีวัดเก่าแก่ขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก
(วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ส่วนด้านใต้ คือ วัดโพธาราม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่ฝีมือเยี่ยม
มาร่วมอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อสถาปนาให้เป็นวัดหลวง
โดยเริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ใช้เวลาถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน
จึงแล้วเสร็จและโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๔
แล้วพระราชทานนาม “วัดโพธาราม” ใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ”
ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
ดังปรากฏในศิลาจารึกซึ่งติดไว้ที่ผนังด้านในพระวิหารทิศพระพุทธโลกนาถมุขหลัง
เรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑ ความว่า

“พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑

“พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน” เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๒

“พระมหาเจดีย์มุนีบัตรบริขาร” เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๓

“พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย” เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๔

“พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ

พระอุโบสถ และ ซุ้มเสมายอดเจดีย์

พระพุทธรูปเก่าแก่ ที่พระระเบียงคด (พระวิหารคด) รอบพระอุโบสถ

พระพุทธรูปเก่าแก่ ในพระวิหารทิศทั้ง ๔ ทิศ

สางแปลง เฝ้าอยู่ที่ ซุ้มประตูกำแพงแก้ว
ครั้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
เป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตก
คือส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สวนมิสกวันสถาปนาขึ้นใหม่
พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
แม้การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อคราวเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ
เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้
บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่
ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ
ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถาน
และสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ภายในวัดพระอารามหลวง
ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวม
สรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย
(มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย) ที่รวบรวมเอาภูมิปัญญาไทย
ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น
จักรพันธุ์ โปษยกฤต จิตรกรชื่อดังของไทย กล่าวไว้ในหนังสือ
“โบสถ์วัดโพธิ์” เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ว่า
“ศิลปศาสตร์ในวัดโพธิ์ จึงเสมือนโอฆะแห่งวิชา
ที่สามารถตักตวงได้ ยังประโยชน์แก่กุลบุตร กุลธิดา
ให้อุดมสมบูรณ์อลังการด้วยปัญญาอยู่มิรู้เหือดแห้ง”

“พระอัคฆีย์เจดีย์” ที่มุมลานพระอุโบสถชั้นนอกทั้ง ๔ ด้าน
คติ : ร่มเย็นเป็นสุข
เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น
การเดินทาง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง
ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 12, 44, 82, 91
รถปรับอากาศ สาย ปอ. 12, 32, 44, 91, 51
